บริการด้านกงสุล
การเพิ่มชื่อเด็กไทยที่เกิดในนอร์เวย์ในทะเบียนบ้านไทย
เด็กไทยที่เกิดในนอร์เวย์ เมื่อบิดาและมารดาได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเกิดกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล และได้รับสูติบัตรไทยที่ออกโดยสถานทูตฯ เป็นหลักฐานแสดงการเกิดเรียบร้อยแล้ว ควรดำเนินการขอเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านไทย ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ เพื่อให้เด็กมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักซึ่งเลขดังกล่าวเป็นเลขประจำตัวของแต่ละบุคคลที่ทางราชการ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้น คนไทยทุกคนจึงมีเลขประจำตัวประชาชนที่ไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากส่วนราชการหลายหน่วยงานใช้ข้อมูลหมายเลขดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันตัวบุคคลที่มาติดต่อราชการ เช่น การทำหนังสือเดินทาง เป็นต้น
การเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านไทยเพื่อให้เด็กมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางให้กับเด็กไทยที่เกิดในนอร์เวย์
– กรณีเด็กทำหนังสือเดินทางเล่มแรก สถานทูตฯ จะอนุโลมให้ทำหนังสือเดินทางได้ และใช้สูติบัตรไทยเป็นหลักฐานแสดงตนของเด็กในการทำหนังสือเดินทาง หากบิดาและมารดายังไม่ได้เพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้านไทย
– กรณีเด็กทำหนังสือเดินทางครั้งที่สอง สถานทูตฯ จะไม่อนุญาตให้ทำหนังสือเดินทาง โดยจะต้องใช้สูติบัตรไทยและสำเนาทะเบียนบ้านไทยที่ได้เพิ่มชื่อเด็กแล้วยื่นเป็นหลักฐานแสดงตนของเด็กในการทำหนังสือเดินทาง
การขอเพิ่มชื่อเด็กไทยที่เกิดในต่างประเทศเข้าทะเบียนบ้านไทย เป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 และ 5 (ข้อ 96, 96/1 และ 96/2) ท่านสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. สถานที่ยื่นคำร้อง
สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอของบ้านที่ประสงค์จะเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนบ้าน
2. ผู้ยื่นคำร้อง
– บิดา มารดาของเด็ก หรือ
– ผู้รับมอบอำนาจจากบิดา มารดา ของเด็ก (กรณีไม่สามารถไปดำเนินการได้ด้วยตนเอง โดยผู้รับมอบอำนาจควรเป็นญาติหรือเจ้าบ้านของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ) หรือ
– ผู้ขอเพิ่มชื่อดำเนินการด้วยตนเอง (กรณีจดทะเบียนเกิดย้อนหลังและบรรลุนิติภาวะแล้ว)
3. หลักฐานประกอบการแจ้ง
– สูติบัตรไทยฉบับจริงที่ออกโดยสถานทูตฯ
– บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา (กรณีบิดาหรือมารดาเป็นชาวต่างชาติให้ใช้หนังสือเดินทาง)
– บัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการ)
– บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
– หนังสือเดินทางไทยของผู้ขอเพิ่มชื่อ (กรณีทำหนังสือเดินทางเล่มแรกกับสถานทูตฯ แล้ว)
– ทะเบียนบ้านของบิดา มารดา (กรณีชาวต่างชาติไม่ต้องใช้ทะเบียนบ้าน)
– ทะเบียนบ้านของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อ
– ทะเบียนสมรสไทยหรือนอร์เวย์
– หนังสือมอบอำนาจที่ผ่านการรับรองจากสถานทูตฯ (กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการ) (ดูรายละเอียดการรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ)
– หลักฐานหรือหลักเกณฑ์อื่นๆ ตามที่เขตหรืออำเภอกำหนด เช่น รูปถ่ายของเด็ก เจ้าบ้านของบ้านที่จะขอเพิ่มชื่อต้องไปแสดงตน หรือ พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภออาจเรียกหลักฐานประกอบการแจ้งเพิ่มเติมที่แตกต่างกันแล้วแต่กรณี ดังนั้น เพื่อเตรียมเอกสารให้ถูกต้องและครบถ้วน ควรตรวจสอบล่วงหน้ากับสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอก่อนไปดำเนินการ